วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

นิเทศศาสตร์ คืออะไร?



นิเทศศาสตร์ คืออะไร?


นิเทศศาสตร์ หมายถึง ศาสตร์ที่ว่าด้วยการสื่อสาร ซึ่งประกอบด้วย ผู้ส่งสาร สาร สื่อ ผู้รับสาร การที่จะทำให้การสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพทุกขั้นตอนเพื่อส่งผลให้บรรลุเป้าหมายของการสื่อสารได้ ดังนั้นนิเทศศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ที่สร้างให้เกิดความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้รับสารกับผู้ส่งสารได้

นิเทศศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยศิลปะของการสื่อสารทุกประเภท ทุกระดับ โดยทางใดก็ตามไปยังบุคคลหรือมวลชน ด้วยการใช้เทคนิควิชาการที่มีอยู่ เพื่อช่วยให้การสื่อสารของมนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิผลอย่างเต็มที่

การศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ศึกษามีขอบข่ายการศึกษาหลายแนวทางซึ่งแต่ละแนวทางสามารถทำการศึกษาได้ทั้งด้านวิชาการ และด้านการปฏิบัติหรือการนำไปประยุกต์ใช้ การศึกษาด้านวิชาการเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้ใหม่ในงานด้านการสื่อสาร หรือด้านนิเทศศาสตร์ ส่วนการศึกษาด้านการปฏิบัติหรือการประยุกต์ใช้จะเป็นการศึกษาเพื่อนำความรู้ด้านการสื่อสาร หรือด้านนิเทศศาสตร์ไปประยุกต์กับการทำงานในวิชาชีพต่างๆ เช่น


1. งานในวิชาชีพนิเทศศาสตร์ เป็นการศึกษาจากงานด้านนิเทศศาสตร์ หรือการสื่อสารเป็นแนวทางทางการศึกษา เช่น งานโฆษณา งานประชาสัมพันธ์ งานวิทยุกระจายเสียง งานวิทยุโทรทัศน์ งานหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ งานภาพยนตร์ งานศิลปะการแสดง งานวาทะวิทยา งานการผลิตสื่อต่างๆ และงานที่เกี่ยวข้อง


2. การประยุกต์ใช้การสื่อสาร หรือนิเทศศาสตร์กับงานอื่นๆ เป็นการแนวทางการศึกษางานของวิชาชีพอื่นๆ ที่การสื่อสาร หรือนิเทศศาสตร์ไปประยุกต์ใช้กับงานอื่นๆ เช่น การสื่อสารการตลาด การสื่อสารการเมือง การสื่อสารสาธารณสุข การสื่อสารการกีฬา จิตวิทยาการสื่อสาร เทคโนโลยีการสื่อสาร การสื่อสารการแพทย์ การสื่อสารองค์การ การสื่อสารธุรกิจ ...


3. การศึกษากระบวนการของการสื่อสาร เป็นการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์หรือการสื่อสารซึ่สามารถศึกษาศึกษาแต่ละองค์ประกอบของการสื่อสาร หรือทั้งกระบวนการสื่อสาร


3.1 การศึกษาแต่ละองค์ประกอบของกระบวนการสื่อสาร เป็นการศึกษาตามองค์ประกอบของการสื่อสารได้แก่ การศึกษาผู้ส่งสาร การศึกษาสาร การศึกษาสื่อ การศึกษาผู้รับสาร การศึกษาผลย้อนกลับของการสื่อสาร หรือสภาพแวดล้อมของการสื่อสาร


3.2 การศึกษาทุกองค์ประกอบของการสื่อสาร เป็นการศึกษาในคราวเดียวกันทุกองค์ประกอบของการสื่อสาร เช่น การศึกษารูปแบบการประชาสัมพันธ์ของฝ่ายประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จะเป็นการศึกษาทั้ง ผู้ส่งสารคือ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ มสธ. ศึกษาเนื้อหาสาระของสาร ศึกษาการใช้สื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ ศึกษาคุณลักษณะของผู้รับสาร ศึกษาผลย้อนกลับของการสื่อสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ของ มสธ. และศึกษาสภาพแวดล้อมของการสื่อสาร


4. การบูรณาการความรู้จากหลายๆ ศาสตร์ เป็นการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ หรือการสื่อสารเป็นหลักและนำความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการศึกษานิเทศศาสตร์มาร่วมกันอธิบาย วิเคราะห์ วิพากษ์ ร่วมกับประเด็นการศึกษาทางนิเทศศาสตร์ เช่น นักศึกษามีความรู้ด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและต้องการนำมาใช้กับการสื่อสารเพื่อการโฆษณาบนโทรศัพท์มือถือ นักศึกษาจะต้องนำความรู้จากศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมในการศึกษา เช่น จะต้องศึกษาด้าน


1. เทคโนโลยีการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ
2. เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ
3.หลักการโฆษณา
4. การบริหารการตลาด
5. การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค
6. การยอมรับนวัตกรรม
7. ความต้องการใช้บริการของผู้บริโภค เทคโนโลยีการโฆษณาบนโทรศัพท์มือถือ

ไม่มีความคิดเห็น: