วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ประเภทและรูปแบบของรายการวิทยุ


ประเภทของรายการวิทยุ แบ่งตามจุดประสงค์ของการนำเสนอเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ รายการเพื่อให้ข่าวสาร รายการให้ความรู้เพื่อการศึกษา รายการเพื่อความบันเทิง รายการโฆษณาประชาสัมพันธ์

1. รายการข่าว ธรรมชาติของคนตามปกติมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่แล้ว การที่วิทยุกระจายเสียงสามารถนำเสนอเรื่องราวข่าวสารต่างๆ ได้รวดเร็วทันเหตุการณ์ ทำให้รายการวิทยุประเภทรายการข่าวได้รับความสนใจจากผู้รับฟังมากที่สุด สถานีวิทยุต่างๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องนำเสนอข่าวให้คนได้รับฟังเป็นระยะๆ โดยการนำเสนอในลักษณะต่างๆ เช่น ข่าวสั้น ข่าวในประเทศ ข่าวต่างประเทศ ข่าวท้องถิ่น นอกจากนี้ยังนำข่าวหรือเรื่องราวที่ผู้ฟังอาจรับทราบไปบ้างแล้ว มานำเสนอเป็นเชิงวิเคราะห์ ตลอดจนทำเป็นรายการสารคดีเชิงข่าว เพื่อช่วยให้ผู้ฟังเกิดความรู้ความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น

2. รายการให้ความรู้เพื่อการศึกษา ได้แก่ รายการที่ก่อให้เกิดความรู้แก่ผู้รับกลุ่มต่างๆ ซึ่งอาจเป็นรายการของสถานีวิทยุทั่วไป หรืออาจเป็นรายการของสถานีวิทยุที่จัดตั้งขึ้นสำหรับถ่ายทอดรายการทางการศึกษาโดยเฉพาะ ที่มีวัตถุประสงค์และเนื้อหาแตกต่างกัน 3 ลักษณะคือ
2.1 รายการเพื่อการศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไป อาจเป็นรายการให้ความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยตรง หรืออาจเป็นสาระความรู้ที่แฝงอยู่ในรายการข่าวหรือรายการประเภทบันเทิงก็ได้ เนื้อหาของรายการจึงเป็นการให้ความรู้ หรือส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องที่ทั่วๆ ไป เช่น การเกษตร ศิลปวัฒนธรรม กฎหมาย การอนามัย แนวทางการดำเนินชีวิตต่างๆ
2.2 รายการเพื่อการศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นรายการที่จัดขึ้นเพื่อให้การศึกษา ตามหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน และกลุ่มสนใจเฉพาะเรื่อง
2.3 รายการเพื่อการสอนหรือการศึกษาในระบบโรงเรียน เป็นรายการที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอความรู้ตามหลักสูตรที่กำหนดไว้แน่นอน เช่นรายการวิทยุโรงเรียนสำหรับการสอนในวิชาต่างๆ

3. รายการประเภทให้ความบันเทิง เช่น รายการดนตรี เพลง ละคร ตลอดจนรายการเบ็ดเตล็ดต่างๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้รับเกิดความเพลิดเพลิน ซึ่งอาจจัดในลักษณะเป็นรายการบันเทิงล้วนๆ หรือจัดเป็นรายการบันเทิงที่สอดแทรกข่าวและสาระความรู้ต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน

4. รายการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เนื่องจากสถานีวิทยุกระจายเสียงส่วนใหญ่ดำเนินการโดยอาศัยการสนับสนุนจากธุรกิจการค้า จึงมีรายการวิทยุจำนวนมากที่มุ่งเพื่อการโฆษณา โดยเฉพาะรายการบันเทิงทั่วไป มักจะแทรกการโฆษณาสินค้าลงไปในรายการอยู่ตลอดเวลา อาจทำเป็นรายการโฆษณาสั้นๆ ที่เรียกว่าสปอต (Spot) แทรกหรือคั่นรายการเป็นระยะ นอกจากนี้ยังมีรายการวิทยุเพื่อการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่กิจการของหน่วยงานองค์การต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งในด้านการศึกษาถือว่ารายการประเภทนี้ อาจเป็นอันตรายในแง่ที่ส่งเสริมให้คนเกิดค่านิยมที่ไม่ดีในการบริโภค และเป็นช่องทางสำหรับการโฆษณาชวนเชื่ออีกด้วย


รูปแบบของรายการวิทยุ

1. รายการพูดกับผู้ฟัง คือรายการที่มีผู้พูดเพียงคนเดียวพูดกับผู้ฟัง เสมือนว่าผู้ฟังเป็นคู่สนทนาเพียงแต่ไม่มีโอกาสพูดโต้ตอบ ความสำเร็จของรายการประเภทนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้พูด ว่าจะสามารถพูดให้น่าสนใจ พูดให้เข้าใจ หรือพูดให้ผู้ฟังรู้สึกมีส่วนร่วมได้เพียงใด

2. รายการปาฐกถา หมายถึง รายการพูดปราศรัยทางวิทยุ เช่น การพูดของบุคคลสำคัญนายกรัฐมนตรีปราศรัยเนื่องในโอกาสต่างๆ ซึ่งจะเป็นการพูดแบบเป็นทางการ พูดตามบทที่เขียนไว้แน่นอนตายตัว ความสนใจผู้ฟังขึ้นอยู่กับ ความสำคัญของเรื่องที่พูด และความน่าศรัทธาเชื่อถือของผู้พูดเป็นสำคัญ

3. รายการเพลง เป็นรายการสำคัญและมีผู้นิยมฟังมากที่สุด สถานีวิทยุต่างๆ มักมีสัดส่วนรายการเพลงมากกว่ารายการประเภทอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยุ FM ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบบ สเตอริโอ คุณภาพเสียงชัดเจนเป็นพิเศษ ช่วยเพิ่มความไพเราะของเพลงหรือดนตรีต่างๆ ได้มาก

4. รายการสนทนา หมายถึงรายการพูดสนทนากันในเรื่องราวต่างๆ ระหว่างผู้ร่วมรายการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยมีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้นำการสนทนาเพื่อควบคุมการสนทนาให้อยู่ในขอบเขต จัดลำดับหรือเชื่อมโยงหัวข้อการสนทนา ไม่ให้ผู้ฟังเกิดความสับสน และพูดกับผู้ฟังโดยตรงในบางครั้ง เช่น การขึ้นต้น การสรุป

5. รายการสัมภาษณ์ หมายถึงรายการที่มีผู้พูดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป คนหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ตั้งคำถามตามที่จัดเตรียมเป็นลำดับเอาไว้ บุคคลอื่นจะเป็นผู้ตอบคำถาม

6. รายการอภิปราย เป็นรายการพูดอีกลักษณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ดำเนินการอภิปราย 1 คน และผู้ร่วมอภิปรายประมาณ 2-4 คน พูดคุยแสดงความคิดเห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในทัศนะหรือมุมมองของแต่ละคนที่แตกต่างกัน

7. รายการสารคดี หมายถึงรายการลักษณะบรรยายเหตุการณ์ หรือเล่าเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องจากประวัติศาสตร์ บทประพันธ์ วรรณคดี อาจใช้ดนตรีประกอบหรือใช้การแสดงคล้ายละคร

8. รายการข่าว หมายถึงรายการที่จัดทำขึ้นเพื่อแจ้งเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เช่น ข่าวในพระราชสำนัก ข่าวท้องถิ่น ข่าวต่างประเทศ ข่าวสังคม วิธีการเสนอข่าวอาจรายงานจากสถานที่เกิดเหตุการณ์จริง หรืออาจเรียบเรียงแล้วนำมาอ่านออกอากาศ

9. รายการละครวิทยุ เป็นรายการพูดประกอบเสียง โดยใช้เทคนิคหลายๆ อย่างประกอบ กัน แสดงให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ ความเข้าใจ ความรู้สึกคล้อยตาม จึงเป็นรายการที่ได้รับความนิยมมากในอดีต ปัจจุบันเนื่องจากมีละครทางโทรทัศน์ ทำให้ความนิยมรายการละครวิทยุลดลง

10. รายการนิตยสารทางอากาศ เป็นรายการเสนอเรื่องราวที่มีหลายเรื่องหลายรสในรายการเดียวกัน แต่นำเสนอในลักษณะเชื่อมโยงเรื่องราวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

11. รายการปกิณกะ เป็นการเสนอเรื่องราวต่างๆ หลายเรื่อง เช่นเดียวกับรายการนิตยสาร เพียงแต่รายการปกิณกะแต่ละตอน แต่ละเรื่องนำเสนอแบบไม่เชื่อมโยงกัน

12. รายการตอบปัญหา หมายถึงรายการที่นำผู้ชมเข้าไปร่วมรายการแข่งขันตอบปัญหาต่างๆ ผู้ฟังจะมีโอกาสคิด และหาคำตอบของตัวเองไปพร้อมกับรายการ เป็นการส่งเสริมให้เกิดความรู้ความคิด โดยเฉพาะรายการถามตอบปัญหาทางวิชาการ

13. รายการตอบคำถาม หมายถึงรายการที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟัง ถามปัญหาโดยใช้จดหมาย หรือโทรศัพท์ ผู้จัดรายการจะตอบปัญหาหรือไขข้อข้องใจต่างๆ ทางวิทยุ นอกจากจะเกิดประโยชน์สำหรับผู้ถามเองแล้ว ยังทำให้ผู้ฟังอื่นๆ ที่มีปัญหาคล้ายกันได้รับประโยชน์ด้วย

1 ความคิดเห็น:

karearis กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะ