คำว่า วิทยุ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบัญญัติขึ้นเพื่อใช้แทนคำว่า เรดิโอ (Radio) ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึงการรับและส่งข่าวด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือคลื่นวิทยุโดยไม่ต้องใช้สายเชื่อมต่อกันระหว่างเครื่องรับกับเครื่องส่ง หากส่งข่าวสารเป็นรหัสสัญญาณไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แทนภาษาพูด ก็เรียกว่าวิทยุโทรเลข (Radio Telegraph) คือการส่งโทรเลขโดยใช้คลื่นวิทยุนั่นเอง หากส่งให้ออกเป็นเสียงพูดหรือเสียงอื่นได้โดยตรงเรียกว่า วิทยุกระจายเสียง (Radio Broadcasting) เช่น การส่งกระจายเสียงของสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างๆ ที่รับฟังกันอยู่ทั่วไป
ประวัติความเป็นมาของวิทยุกระจายเสียง
กำเนิดวิทยุของโลก มีความเป็นมาตามลำดับต่อไปนี้พ.ศ. 2408 เจมส์ คลาก แมกซ์เวล (James Clerk Maxwell) ชาวอังกฤษค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือคลื่นวิทยุพ.ศ. 2430 เฮนริช รูดอล์ฟ เฮิรตซ์ (Henrich Rudolf Hertz) ได้ค้นคว้าทดลองตามหลักการของ แมลซ์แวล ค้นพบคุณสมบัติต่างๆ ของคลื่นวิทยุพ.ศ. 2444 กูลิเอลโม มาร์โคนี (Guglielmo marconi) ชาวอิตาลี สามารถส่งคลื่นวิทยุโทรเลขข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ระยะทางกว่า 2,000 ไมล์ การส่งวิทยุระยะแรกเป็นการส่งวิทยุโทรเลข ยังไม่สามารถส่งสัญญาณที่เป็นเสียงพูดได้ จนกระทั้ง พ.ศ. 2449 จึงสามารถส่งสัญญาณเสียงพูดได้โดยการพัฒนาของศาตราจารย์ เรจินัลต์ เอ. เพสเสนเดน (Riginald A. Fessenden) และลีเดอฟอเรส (Lee de Forest) ชาวอเมริกันทำได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2451 ซึ่งเป็นการส่งเสียงพูดจากเครื่องส่งไปยังเครื่องรับเครื่องหนึ่งในระยะไกลเรียกว่า วิทยุโทรศัพท์ (Radio Telephony) สถานีวิทยุกระจายเสียงที่ออกอากาศครั้งแรกของโลกคือ สถานี KCBS ในซานฟรานซิโก สหรัฐอเมริกา เริ่มออกอากาศรายการประจำให้คนทั่วไปรับฟังเมื่อ พ.ศ. 2453 (สุมน อยู่สิน และยงยุทธ รักษาศรี 2534 : 47-65)
วิทยุในประเทศไทย วิทยุโทรเลข ถูกนำเข้ามาทดลองใช้ในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2447 ตรงกับปลาย รัชกาลที่ 5 โดยห้างบีกริม ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทวิทยุโทรเลขเทเลฟุงเกน ประเทศเยอรมัน ทำการทดลอง ส่งระหว่างกรุงเทพมหานคร กับเกาะสีชัง
พ.ศ. 2456 สมัยรัชกาลที่ 6 กระทรวงทหารเรือ จัดตั้งสถานีวิทยุโทรเลขขึ้นที่ตำบลศาลาแดงในพระนครแห่งหนึ่ง และที่จังหวัดสงขลาอีกแห่งหนึ่ง ต่อมา พ.ศ. 2469 ได้โอนกิจการสถานีวิทยุทั้งสองแห่งให้กรมไปรษณีโทรเลข และต่อมางานวิทยุโทรเลขได้ขยายไปสู่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศวิทยุกระจายเสียง เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2471 โดยการเริ่มทดลองส่งของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบูรฉัตรไชยากร กรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพานิชย์ และการคมนาคมในสมัยรัชกาลที่ 7 ตั้งสถานี 4 พีเจ (4PJ) ขึ้นอยู่ในความดูแลของกองช่างวิทยุกรมไปรษณีย์โทรเลข แต่การกระจายเสียงจำกัดอยู่ในหมู่เจ้านาย ข้าราชการ จนกระทั่ง พ.ศ. 2472 จึงตั้งสถานีวิทยุแห่งใหม่ขึ้นที่วังพญาไท กระจายเสียงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประชาชนทั่วไปได้รับฟัง ซึ่งถือว่าเป็นการส่งวิทยุกระจายเสียงครั้งแรกของประเทศไทย
พ.ศ. 2475 เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะราษฎร์ได้ใช้วิทยุกระจายเสียงเผยแพร่ข่าวให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง
พ.ศ. 2482 รัฐบาลตั้งสำนักงานโฆษณาการขึ้นและโอนสถานีวิทยุต่างๆ ให้อยู่ในการควบคุมดูแลของสำนักงานโฆษณาการ (ภายหลังเปลี่ยนกรมโฆษณาการ และเป็นกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) เรียกสถานีวิทยุใหม่ว่า "สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย" หลังจากนั้นวิทยุกระจายเสียงได้พัฒนาแพร่หลายมาเป็นลำดับ (อนันต์ธนา อังกินันทน์ 2532 : 9-16)
คุณค่าของวิทยุกระจายเสียง
คุณลักษณะทั่วไป
1. สามารถส่งคลื่นกระจายเสียงไปได้ไกลทุกหนทุกแห่ง ผู้รับจึงสะดวกสามารถจะเปิดเครื่องรับฟังได้ทุกสถานี คลื่นวิทยุที่ใช้สำหรับส่งวิทยุกระจายเสียงมีหลายขนาดคลื่น เช่น LW SW MW หรือ AM FM ซึ่งคลื่นแต่ละอย่างมีคุณสมบัติต่างกัน สามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับระยะทางหรือพื้นที่ของกลุ่มเป้าหมาย เช่น คลื่นสั้น (SW) สามารถส่งไปได้ไกลมากเป็นพิเศษแม้จะอยู่คนละซีกโลกก็สามารถรับได้ ไม่จำกัดทั้งระยะทางและสิ่งกีดขวาง ผลดีในแง่การสื่อสารก็คือ ทำให้สามารถถ่ายทอดความรู้ข่าวสารไปสู่ผู้รับได้พร้อมกันจำนวนมหาศาล
2. ส่งข่าวสารได้รวดเร็วกว่าสื่ออื่นทุกประเภท เนื่องจากงานจัดรายการวิทยุสามารถทำได้โดยง่าย ใช้คนเพียงคนเดียวก็สามารถพูดหรือเปิดเทปออกอากาศได้ทันที ซึ่งสถานีวิทยุต่างๆ มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา วิทยุจึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการเสนอรายการประเภทข่าว ซึ่งต้องการความรวดเร็วในการนำเสนอ
3. มีกำลังชักชวนจูงใจสูง แม้ว่าวิทยุเป็นสื่อที่มีเพียงเสียงอย่างเดียวแต่ด้วยอำนาจของเสียง คำพูด เทคนิคของวิทยุ และความสามารถของผู้จัดรายการ ซึ่งส่วนใหญ่มีทักษะในการพูดเป็นอย่างดี สามารถพูดให้ผู้ฟังเข้าใจได้ชัดเจน พูดให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนได้เห็นภาพ และคำพูดมีอิทธิพลในการชักจูงใจสูง เป็นสื่อที่ใช้ได้ดีกับรายการหลายประเภท เช่น ข่าว ละคร การพูดบรรยาย ดนตรี เพลง การโฆษณาสินค้า ฯลฯ
4. ความสะดวกและง่ายต่อการรับ อาจใช้เครื่องรับวิทยุขนาดเล็ก รับสัญญาณวิทยุในสถานที่ใดๆ ก็ได้ เช่น ในบ้าน รถยนต์ สำนักงาน รับฟังได้ตลอดเวลาโดยไม่จำเป็นต้องมีความตั้งใจเป็นพิเศษ อาจฟังวิทยุไปพร้อมกับการทำงานอื่นๆ วิทยุจึงเป็นสิ่งที่ใช้ได้ทุกเวลาทุกโอกาส
5. เป็นสื่อมวลชนที่ผู้รับเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ไม่ว่าจะใช้วิทยุเพื่อรับรู้ข่าวสารหรือเพื่อความบันเทิงก็ตาม ผู้รับลงทุนครั้งแรกสำหรับเครื่องรับวิทยุเพียงครั้งเดียว ก็สามารถรับฟังสิ่งต่างๆ ได้ตลอดไป มีรายการของสถานีวิทยุต่างๆให้รับฟังเป็นจำนวนมาก ผู้นิยมฟังเพลงทางวิทยุ ก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อเทปหรือแผ่นเสียงต่างๆ เพราะวิทยุกระจายเสียงมีรายการประเภทนี้มากเป็นพิเศษแทบทุกสถานี
6. ปริมาณและคุณภาพของวิทยุกระจายเสียง ด้านปริมาณมีสถานีวิทยุต่างๆ ออกอากาศอยู่เป็นจำนวนมาก เฉพาะสถานีวิทยุในประเทศไ ทย รวมทุกภูมิภาคแล้วมีจำนวนหลายร้อยสถานี แต่ละภูมิภาคก็สามารถรับได้หลายสิบสถานี จึงเปิดโอกาสให้เลือกรับฟังได้อย่างกว้างขวาง ด้านคุณภาพปัจจุบันมีการส่งกระจายเสียงวิทยุในระบบ สเตอริโอ คุณภาพเสียงชัดเจนเป็นพิเศษ จึงมีผู้นิยมฟังรายการประเภทเพลง หรือดนตรีทางวิทยุกันมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น